post

อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ กล่าวไว้ว่า “Life is like riding a bicycle. To keep your balance, you must KEEP MOVING.” ชีวิตก็เหมือนกับการขี่จักรยานนั่นแหละถ้าจะให้มันวิ่งต่อไปได้ก็ต้องปั่นรักษาความเร็วให้สมดุล ชีวิตก็เหมือนกันถ้าอยากให้ก้าวไปต่อก็ต้องทำให้มันเคลื่อนต่อไปไม่หยุดนิ่ง ระหว่างทางเดินชีวิตเราสำราญกับความสุขและได้เผชิญทุกข์ที่บุกมาท้าทายศักยภาพในการเอาตัวรอดของเราเป็นระยะ ๆ บ้างเป็นโจทย์ระยะสั้น บ้างเป็นโจทย์ระยะยาว และหลายโจทย์ก็ทำให้ชีวิตเราเสียสมดุล เมื่อถึงที่สุดมนุษย์จะมีวิธีการเหมาะสมในการจัดการกับชีวิตแตกต่างกันไป และวิธีการหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปคือ การเขียนไดอารี่

การเขียนไดอารี่ คือการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวก และลบต่อส่วนลึกของหัวใจลงบนกระดาษ เป็นการสื่อสารที่ไม่ต้องการให้ตนเองเป็นผู้รับสานส์ ต้องการเก็บเป็นความลับส่วนบุคคล เป็นการปลดปล่อยออกไปโดยไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ระบายอย่างหมดเปลือกโดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะคัดค้าน ตัดสินถูกผิด หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสิ่งที่ระบายออกไป ไม่มีระเบียบแบบแผน วรรคตอน โครงสร้างประโยคหรือถ้อยภาษามาเป็นกรอบ หรือขีดจำกัดในการเขียน อิสระได้ทั้งความคิดและการกระทำ ด้วยการปฏิบัติต่อไดอารี่ดังกล่าวทำให้การเขียนไดอารี่กลายเป็นเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยเรียกสติ สร้างสมาธิ ก่อเกิดเป็นปัญญามาพยุงชีวิตให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง เราจะเขียนไดอารี่อย่างไรให้หัวใจเรากลับมาทรงพลังแล้วลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว ลองดูเทคนิคดังต่อไปนี้

เขียนอย่างตรงไปตรงมา เราอ่านไดอารี่นี้คนเดียว และมันจะถูกเก็บซ่อนไว้เป็นอย่างดี ดังนั้นไม่ต้องกักเก็บความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจไว้ จงซื่อสัตย์กับตัวเองสัญญาว่าจะปลดปล่อยทุกความรู้สึกดีร้ายออกมาให้หมด ไม่ต้องตั้งท่าเรียบเรียงก่อนหลัง ไม่ต้องระวังภาษาว่าจะไม่สุภาพหยาบคาย เขียนวนไปวนมาก็ได้ คิดอะไรเขียนลงไปให้หมด

ใช้ภาษาให้สุดในจุดที่คุณเป็น ไม่ต้องกลัวถูกผิด ปล่อยความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ การฝึกเขียนบ่อยๆ จะเป็นการพัฒนาทักษะภาษาและทักษะการเขียนไปในตัวด้วยซึ่งสุดท้ายเราจะมีสไตล์ สำนวนภาษาในการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ตามธรรมชาติของเราได้ในที่สุด

บันทึกสรุปดีร้าย หลังจากขีดเส้นเน้นย้ำเรื่องราวสำคัญเรียบร้อยแล้ว ให้หยิบเรื่องสำคัญเหล่านั้นออกมาแล้วเขียนลงบนไดอารี่หน้าต่อไปโดยให้ชื่อบทว่า สรุปประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ โดยแบ่งเขียนเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งซ้ายเขียนเรื่องดี ฝั่งขวาเขียนเรื่องร้าย สรุปเสร็จอ่านทานซ้ำทั้งสองฝั่งจนขึ้นใจโดยเฉพาะฝั่งขวาต้องเพิ่มความใส่ใจในการอ่านเป็นกรณีพิเศษเพราะมันเป็นตัวการที่ทำให้เราจิตตก เครียด และกังวล

หาเรื่องดีในเรื่องร้าย ข้อสรุปส่วนใหญ่ที่เขียนได้มักจะอยู่ฝั่งร้ายมากกว่าฝั่งดี เพราะเรามักจะมีแรงบันดาลใจเขียนไดอารี่ได้ยาว และเต็มอารมณ์ ในช่วงเวลาที่รู้สึกแย่มากกว่าช่วงเวลามีความสุขนั่นเอง เราจึงต้องย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ในฝั่งร้ายทีละข้ออย่างละเอียดอีกครั้งแล้วลองขุดค้นหาข้อดีที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เหล่านั้นให้ได้แล้วนำมาเติมต่อท้ายในฝั่งดี ค่อยๆคิดค้นหาทีละเหตุการณ์จนครบทุกเรื่องร้ายที่เขียนไว้

การเขียนไดอารี่เสมือนเพื่อนซี้คู่ชีวิตที่รอคอยการกลับมาของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เคยยุแยง ไม่เคยใส่สีตีไข่ให้ไขว้เขว เป็นพื้นที่ให้เราได้เริ่มด้วยร้อนแล้วผ่อนปิดท้ายด้วยความเรียบเย็น เห็นถูกผิดผ่านการคิดทบทวนด้วยตัวเราเอง แม้จะยังไม่ได้ทางออกของปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยดึงสติให้กลับมา ปลุกกำลังวังชาให้แช่มชื่น เมื่อสติมาปัญญาก็เกิดขึ้น เมื่อนั้นแสงทองผ่องอำไพก็จะเคลื่อนเข้ามาเพื่อนำพาชีวิตก้าวต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้งดั่งจักรยานที่ต้องทรงตัวด้วยการปั่นรักษาสมดุลให้เคลื่อนที่อยู่เสมอ